Menu

แอ่วเชียงราย ภูชี้ฟ้า พระธาตุดอยจอมทอง เสาสะดือเมือง

October 9, 2010 - ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว, เที่ยวถ่ายภาพ, เที่ยวภูเขา, เที่ยวฤดูฝน, เที่ยวฤดูหนาว, เที่ยวโบราณสถาน วัด
แอ่วเชียงราย ภูชี้ฟ้า พระธาตุดอยจอมทอง เสาสะดือเมือง

ห่างหายไปจนเกือบลืมกันเลย หลังจากเล่าเรื่องแอ่วเมืองเหนือค้างเอาไว้ วันนี้จะมาสานต่อให้เสร็จไปอีก 1 จังหวัด หลังจากที่เดินทางออกมาจากจังหวัดน่านแล้ว ก็มุ่งหน้ามายังจังหวัดเชียงรายเลย ซึ่งในเป้าหมายเดิมเราจะให้เชียงรายเป็นจุดหมายสุดท้าย แต่ถ้าเป็นแบบนั้นคนขับรถต้องเหนื่อยแน่ๆครับ ถ้าต้องขับจากเชียงรายกลับอยุธยา จุดหมายของเราวันนี้อยู่ที่ภูชี้ฟ้า เราใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงเหมือนกัน จนมาถึงสถานที่แรกคือ “วัดพระธาตุจอมจ้อ” เป็นพระธาตุที่อยู่บนเขาสูงๆ เลยครับ แทบไม่อยากเชื่อว่าเขามาสร้างอยู่กันบนจุดสูงสุดของภูเขา เส้นทางที่ใช้ขับขึ้นไปบนนั้นค่อนข้างชันนะครับ ควรใช้ความระมัดระวังให้มาก หลังจากนมัสการพระธาตุจอมจ้อเสร็จแล้ว เราก็เดินทางไปหาคนนำทาง ซึ่งเขาเคยเป็นลูกศิษย์ของ อ.นภาพร มาก่อน เขาก็พาไปชิมอาหารรสเด็ด ที่ร้านอาหารอะไรซักอย่าง ผมเองก็จำไม่ได้ เป็นลักษณะคล้ายทุ่งนา ถ้าไม่มีคนรู้จัก แล้วบอกกันปากต่อปาก เชื่อว่าคนไปใหม่ๆ จะหาร้านไม่เจอแน่นอนครับ หลังจากเสร็จภาระกิจแล้ว ก็เป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว ต้องรีบขึ้นไปหาที่พักบนภูชี้ฟ้าให้ได้เสียก่อน เพราะถ้าค่ำมืดแล้ว จะอันตรายต่อการขับรถ ระหว่างนี้ผมขอคั่นซักนิดกับ

“ตำนาน พระธาตุ 9 จอม ของจังหวัดเชียงราย”

ตำนานบูชาพระธาตุเก้าจอม
พระธาตุเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธ ที่เป็นสถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเปรียบเสมือนเป็นองค์แทนพระองค์ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญเพียรเผยแพร่หลักธรรมแห่งพุทธศาสนา เพื่อการหลุดพ้นจากบ่วงกรรมความทุกข์ทั้งปวง อันจะนำพาความเป็นสิริมงคลมาสู่ชีวิตของผู้ที่เคารพและศรัทธา
ตามคติความเชื่อของชาวล้านนามาตั้งแต่โบราณกาล เชื่อกันว่าการได้ทำบุญวัดประจำปีเกิด หรือการได้ไปทำบุญวัดที่เป็นมงคลนามทั้งเก้า รวมถึงการได้ไปนมัสการสักการะพระธาตุเก้าจอม จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล อยู่เย็นเป็นสุข หรือ ตามคติล้านนาว่า อยู่ดีกินหวาน ประสบความสำเร็จทั้งการงาน การเงิน การดำเนินชีวิตได้สมดังปรารถนา

พระธาตุถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอัศจรรย์ปาฏิหาริย์มาก จากคำบอกเล่าของบรรพชนมักได้ยินได้ฟังอยู่เสมอว่า ทุกวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ของบางเดือน จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เช่น การปรากฏลำแสงพวยพุ่ง สุขสว่างสดใสเป็นรัศมีสีแดง สีเหลือง สีขาว ขึ้นรอบองค์พระธาตุ หรือ พาดผ่านขึ้นสู่ท้องฟ้าบ้าง หรือการปรากฏความร่มเย็นเป็นสุขมีฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลที่แห้งแล้วบ้าง หรือปรากฏกลิ่นหอมโรยรื่นอบอวลชวนให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสบ้าง ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้สำแดงออกมาโดยอัศจรรย์ด้วยพุทธานุภาพเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ผองชนที่เคารพเลื่อมใสเป็นอันมาก
พระธาตุเก้าจอม เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในส่วนต่างๆ ของพระวรกายโดยแท้ มีประวัติตำนานกล่าวขานที่เป็นพุทธมงคลรวมทั้งนามที่ตั้งก็เป็นมงคลนาม ผู้ที่ได้สักการะพระธาตุครบทั้งเก้าจอมจะถือว่าน้อมรับมงคลอันยิ่งใหญ่และสิ่งงดงามมาสู่ชีวิตของตนเองและบริวาร

แผนที่เชียงราย แผนที่ท่องเที่ยว อิ่มบุญสักการะพระธาตุ 9 จอม

พวกเรามาถึงที่ภูชี้ฟ้าประมาณ 5 โมงครึ่ง แต่แสงแดดที่นี่ก็หมดแล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่สูง และเต็มไปด้วยภูเขาใหญ่น้อยเรียงรายสุดลูกหูลูกตา ทำให้ที่นี่มืดเร็วกว่าบ้านเรา(ภาคกลาง) ช่วง 4 โมงเย็น บริเวรภูเขาก็จะมีอุณหภูมิต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆที่แสงแดดยังส่องทำให้รู้สึกอบอุ่นผิวกายอยู่บ้าน แต่ยามลมพัดมา ก็รู้สึกได้ถึงความเย็นเยือกของหุบเขา ซึ่งก็จะเป็นแบบนี้ทุกๆที่ครับ ไม่ว่าจะเชียงราย เชียงใหม่ น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน เลย อุตรดิษฐ์ ฯลฯ เราได้พักกันที่ “ภูชี้ฟ้าอินน์” ในราคา 280 บาท!! ไม่ผิดแน่ครับ ราคา 280 บาทจริงๆ เพราะช่วงที่เราไปกันนั้นเป็นช่วงหน้าฝน ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมี ราคาที่พักจึงถูกไปตาม season ถ้าหากใครที่อยากได้ความประหยัดและต้องการเปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวหน้าฝนบ้าง ก็ลองมาเที่ยวที่นี่ได้ครับ อากาศดี ไม่(ค่อย)มีมลพิษ สำหรับที่พักที่ภูชี้ฟ้านะครับ ส่วนมากจะไม่มีแอร์ แต่มีน้ำอุ่นให้ ใครจะกางเต้นท์ก็ได้ แต่หน้าฝนผมคงไม่แนะนำให้กางเต้นท์ครับ มันจะลำบากสุดจะบรรยาย เหอะๆ หากไม่เชื่อลองไปค้นทริป ภูสอยดาว ดูได้ครับ ได้ความมันส์ไปอีกแบบ

เช้าวันรุ่งขึ้น เราตั้งใจว่าจะไปชมพระอาทิตย์ขึ้น จึงให้น้องที่ดูแล เขามาปลุกตอนตี4 แล้วมันก็มาปลุกตอน ตี 4 แป๊ะๆเลยครับ =_= ยอมรับนับถือในความ ขยัน อดทน ตรงต่อเวลา ตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน ของเด็กชาวเขาจริงๆ (ข้าน้อยขอคารวะ) พอเคาะจนเราตื่น เราก็ล้างหน้าด้วยความหนาวพอเป็นพิธี ทุกคนพร้อมกันหมดแล้ว เหลือแต่หมูตัวนึงนอนคลุมโปงอยู่ไม่ยอมลุก บอกไม่อยากไป อยากนอนพักผ่อน เราก็เลยปล่อยให้แม่ทูลหัวเธอนอนให้สบาย แล้วเราจะไปลั้นลาดูพระอาทิตย์ ที่ใครมาภูชี้ฟ้า ก็ต้องไม่พลาด ขณะที่เราไปนั้น อากาศไม่ค่อยจะดีซักเท่าไหร่ รู้สึกหมอกมันจะเย็นๆผิดปกติ (แทนที่จะเป็นไอ แต่มันกลายเป็นหยดๆ เอ๊ะ นี่มันละอองฝนนี่หว่า) เราก็เดินกันไปจนถึงจุดชมวิว ตรงที่เขานิยมถ่ายรูปกันน่ะครับ ซึ่งเราก็มาถึงเป็นกลุ่มแรก แล้วก็มี อีกกลุ่มนึงตามมาอีก 4 คน แต่พอเราอยู่ได้ซักอึดใจ ทันใดนั้น เจ้าละอองน้ำที่เราคิดว่ามันคงถูกพัดลงมาจากต้นไม้ใบไม้ มันก็กลับแสดงพลัง ด้วยการรวมตัวเป็นเม็ดที่ใหญ่ขึ้น หึหึ! ใช่ครับ ฝนเริ่มพร่ำๆ แล้ว แต่เรายังไม่ย่อท้อ เรายังเฝ้ารอ เผื่อมันจะหยุดและเราจะได้เห็นพระอาทิตย์สมใจอยาก ณ ตอนนั้นเราเองก็ไม่ได้คิดไว้ว่าฝนมันจะตกแต่เช้าขนาดนี้ เลยไม่ได้ตระเตรียมเครื่องมืออะไรมาเพื่อกันน้ำฝน สุดท้ายก็ได้เดชะบุญของ “เจ้าถุงดำ” ก็ไอ้ถุงขยะนี่แหละ เอามาคลุมหัว (โชคดีที่มันยังไม่ได้ใส่ขยะ) เราก็นั่นหลบกันอยู่ตรงซอกหิน คิดดูซิครับ ถุงดำ 1 ใบ กับคน 6 คน มันจะพ้นฝนมั้ย เหอะๆ แน่นอนมันไม่พ้น แต่ยังไงผมก็เอากล้องกับหัวมุดไว้ใต้ถุงดำก่อน เพื่อความปลอดภัย ตัวจะเปียกไม่เป็นไรครับ กล้องไม่เปียกเป็นใช้ได้ เราก็นั่นอยู่ประมาณ 10-15 นาที อยากใจจดใจจ่อว่าฝนมันจะหยุด แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่า คงไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วละ เพราะนี่มัน หกโมงครึ่งแล้ว แต่ฟ้ายังครึ้มเมฆ ครึ้มฝนอยู่เลย จึงตัดสินใจกลับ พอมาถึงที่พัก คนที่สบายที่สุดก็คือคนที่นอนคลุมโปงอยู่บนเตียงนี่เอง พอเราเข้าห้อง ไปด้วยสภาพที่เหมือนลูกหมาตกน้ำ คุณเธอก็ขำผมซะยกใหญ่ (ชริ รู้งี้ฉุดกระชากไปด้วยซะก็ดี อิอิ) พออาบน้ำเสร็จ อะไรเสร็จ แล้วก็ออกมารับแสงแดดยามเช้า ตอน 9 โมง อากาศสดชื่น เย็นสบายมาก อยากสูดอากาศแบบนี้ทุกวันเลย ถ้าเป็นไปได้ อ้อลืมไป เด็กชาวเขาคนนั้นก็ไปกับเรา เปียกโชกเหมือนกัน พอมันกลับไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านเสร็จ ก็เดินมาทำหน้าที่ต่อว่า จะทานอะไรมั้ย ว่าแล้วก็สั่งข้าวเช้ามาทานกัน (น้องเขาไม่คิดค่าบริการนะครับ แต่เขาอาจจะได้ค่าหัวคิวจาก โรงแรม ร้านอาหาร แต่ก็คงไม่มาก ที่ได้มากกว่าคงจะเป็นทิปที่ เราๆนักท่องเที่ยวให้กันนี่แหละครับ ถือซะว่าเป็นเบี้ยขยัน)

พอลงจากภูชี้ฟ้า เราก็มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเชียงราย มาแวะที่พิพิธภัณฑ์และศูนย์ศึกษาชาวเขาสถานที่แสดงวิถีชีวิตของชาวเขาหกเผ่าในประเทศไทย ได้แก่ อาข่า มูเซอ เย้า กะเหรี่ยง ลีซอ และม้ง ชั้นล่างเป็นร้านอาหารออกแบบเก๋ไก๋ด้วยถุงยางอนามัย เปิดให้เข้าชมทุกวัน ค่าเข้าชม 50 บาทครับ หลังจากนั้นเราก็มุ่งหน้าไปยังวัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุจอมทอง บริเวณนั้นจะติดกับ “เสาสะดือเมืองเชียงราย” (เสาหลักเมือง)

เสาสะดือเมืองเชียงราย สร้างในรูปแบบศิลปะขอมแบบพนมบาแกง โดยยึดตามรูปแบบสมมติของจักรวาล หันหน้าไปสู่ทิศตะวันออก บริเวณด้านนอกสุดเป็นคูน้ำเหมือนในจักรวาล ลานดินถัดจากคูน้ำหมายถึงแผ่นดิน ลานด้านในยกเป็นชั้นๆ จำนวน 6 ชั้น เปรียบเสมือนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ในกามภูมิ ประกอบด้วยชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรตี และปรนิมมิตสวัตตี ตามลำดับ โดยแต่ละชั้นจะมีร่องน้ำคั่นกลาง เหมือนปัญจมหานที ได้แก่ คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ ไหลลดหลั่นกันลงสู่พื้นดิน ชั้นในสุดยกเป็น 3 ชั้น หมายถึงรูปภูมิ อรูปภูมิ และนิพพาน ตัวเสาสะดือเมืองตั้งโดดเด่นดั่งเขาพระสุเมรุอยู่บนฐานสามเหลี่ยมยกพื้นสูง ซึ่งเปรียบเสมือนตรีกูฏบรรพต หรือผา 3 เส้า มีเสาบริวารล้อมรอบจำนวน 108 ต้น โดยตัวเสาสะดือเมืองมีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อของล้านนาโบราณที่จะต้องสร้างเสาสะดือเมืองให้มีขนาดใหญ่เท่ากับ 5 กำพระหัตถ์ และมีความสูงเท่ากับส่วนสูงของพระวรกายของพระมหากษัตริย์
ที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki/เสาสะดือเมืองเชียงราย

ด้านข้างของเสาสะดือเมืองนี้ก็ยังมี “กรุวัฒนธรรมเชียงราย” ซึ่งก่อสร้างขึ้นเมืองวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2544 เพื่อเก็บร่องรอยและหลักฐานทางวัฒนธรรมร่วมสมัยปัจจุบัน ซึ่งกรุวัฒนธรรมเชียงรายนี้จะทำการขุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อมีอายุครบ 100 ปี หรือในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2644 ว้าวว เป็นไงละ มันน่าสนใจใช่มั้ยครับ ที่คนรุ่นปัจจุบัน ได้เอาต้นแบบมาจากคนโบราณ ที่จะฝังสิ่งของมีค่า ไว้ใต้ดิน หรือในสถูป เจดีย์ พอคนรุ่นต่อมาขุดค้นเจอ ก็ตื่นเต้น และสนใจเกี่ยวกับอารยธรรม ที่คนรุ่นก่อนๆ สืบทอดกันมา

หลังจากนั้นเราก็ไปที่ วัดงำเมือง (หรือวัดดอยงำเมือง) ซึ่งเป็นที่ที่ประดิษฐานของ สถูปบรรจุพระอัฐิของพญามังรายมหาราช ตามประวัติบอกว่า แต่ก่อนมีเพียงสถูป แต่ต่อมา พ.ศ. 2030 พระยาศรรัชฎาเงินทอง ได้มาบูรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า “วัดงำเมือง” และใน พ.ศ. 2220 ได้มีการบูรณะเพิ่มเติมมีการสร้างวิหารและเสนาสนะในวัด โดยเจ้าฟ้ายอดงำเมืองโอรสเจ้าผู้ครองนครเชียงแสน ต่อมาวัดงำเมืองเริ่มชำรุดทรุดโทรมลงเพราะขาดการทำนุบำรุง หลังจากที่เราได้ไปที่ “วัดพระแก้ว” ซึ่งห่างออกไปเพียง 500 เมตรเท่านั้น วัดนี้เป็นจุดที่ค้นพบ “พระแก้วมรกต” ที่ในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว ในกรุงเทพมหานครฯ วัดพระแก้วที่เชียงรายนี้ มีความสวยงามและร่มรื่นมากครับ ดูเป็นวัดที่มีการพัฒนาและยังเป็นพระอารามหลวง ที่เป็นเรือนไม้สักขนาดใหญ่มาก เป็นทั้งอาคารสำนักงานเจ้าคณะ และ “พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว” ที่จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญ และศิลปวัฒธรรมเกี่ยวกับศาสนาในรูปแบบที่ทันสมัยอีกด้วย จากนั้นก็ไปยัง “วัดพระสิงห์” อีกหนึ่งในพระอารามหลวง

พอตกเย็นก็ได้ตะเวนหาร้านอาหารบริเวณตัวเมืองเชียงราย มีคนแนะนำให้มาที่ร้านบริเวณสนามบินเก่า ก็ลองเข้าไปทานดู บรรยากาศอืมครึม รู้สึกอึดอัดถ้านั่งอยู่นานๆ แถมเสียงก็ดัง มันไม่ใช่ร้านอาหารแบบ Open air มันจะเป็นกึ่ง pub กึ่ง restaurant ซะมากกว่า พอกินเสร็จแล้วก็ไปหาที่พัก ซึ่งก็อยากได้โรงแรมที่ใกล้ๆกับ “เชียงรายไนท์บาร์ซ่าร์” มากที่สุด เพราะอยากลองมาเดินช๊อปปิ้ง หาซื้อของฝากอะไรแบบนั้น จนได้โรงแรมเล็กๆ ซึ่งก็เอาอาคารพานิชย์ 3 ชั้น มาแบ่งๆ เป็นห้อง นี่แหละครับ ก็สะอาดใช้ได้ ไม่กว้างมาก แต่ติดตรงที่ว่า มันมีอยู่ห้องหนึ่ง ห้องน้ำดันไม่ได้อยู่ในห้องนี่ซิครับ เพราะห้องที่ผมกับฟ้านอนมันเป็นห้องเล็ก เตียงเดี่ยว ก็แทบจะไม่มีพื้นที่แล้ว ถ้าเอาห้องน้ำมาใส่ด้วยคงจะนอนกันในนั้นเลย จะเข้าห้องน้ำทีก็ต้องเปิดประตูออกไป มองซ้ายมองขวาให้ดี ^^ เดี่ยวจะมาเล่าต่อครับขอพักมือเดี๋ยว มาต่อเชียงรายภาค 2 นะครับ

สนใจสอบถามข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเราได้ที่ facebook fanpage

CLOSE