Menu

แอ่วเมืองน่าน วัดภูมินทร์ พระธาตุเขาน้อย พระธาตุแช่แห้ง

June 10, 2010 - ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว, เที่ยวถ่ายภาพ, เที่ยวฤดูหนาว, เที่ยวโบราณสถาน วัด
แอ่วเมืองน่าน วัดภูมินทร์ พระธาตุเขาน้อย พระธาตุแช่แห้ง

ทริปแอ่วเหนือครั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 3-7 ตุลาคมปี 2552 เป็นทริปที่ไปสำรวจเส้นทาง เก็บข้อมูลเพื่อเอามาทำทริปทัวร์ของเจ๊เบิร์ด ผมก็เลยได้อานิสงฆ์ร่วมเดินทางไปด้วย ตอนแรกทริปนี้ตั้งโปรแกรมไว้ว่าจะลงใต้ ตั้งแต่ ชุมพร สุราษฯ นครศรีฯ สตูล สงขลา อาจจะลงไปถึงนราธิวาสเลยก็ได้ เพราะกำหนดการจริงๆคือ 7 วัน แต่ก่อนวันที่จะไปเพียงวันเดียวได้ยินข่าวไม่ดีจากทางใต้ ด้วยเพราะเป็นหน้าฝนมรสุมจึงเข้า ทำให้มีฝนตกหนัก จึงเปลี่ยนโปรแกรมกระทันหัน ไปแอ่วเมืองเหนือแทน เริ่มต้นการเดินทางจากพระนครศรีอยุธยา ใช้ถนนสายเอเซีย มุ่งตรงเข้า จ.นครสวรรค์ พิษณุโลก และแวะพักทานข้าวกลางวันที่ จ.แพร่ ไหนๆก็มาเมืองเหนือก็ต้องทานอาหารเหนือ สั่งข้าวซอยมาทาน ร้านนี้เบียร์ได้แนะนำไว้ เพราะบ้านเบียร์อยู่แถวนี้บอกว่าอร่อย ก็จริงครับรสชาติไม่เลี่ยน และเครื่องเคียงเขาให้จุใจ ได้รสชาติเผ็ดหวาน อมเปรี้ยวของน้ำ แบบครบเครื่อง

จากนั้นก็เดินทางต่อ ไปยัง จ.น่าน เพื่อหาที่พัก เราได้ที่พักที่โรงแรมแกรนด์ แมนชั่น ค่าห้องผมจำได้ว่าไม่ถึง 300 บาทนะ ถ้าจำไม่ผิด บรรยากาศยังเหมือนเดิม เงียบสงบ และเย็นสบาย ผู้คนไม่ขวักไขว่ ถนนหนทางสะอาด (แอบเชียร์เกินไปป่าวเนี่ย) พอพักจนหายเหนื่อยแล้วก็เดินออกไปเที่ยวกันซะหน่อย วัดแรกที่ใกล้โรงแรมที่สุดก็คือวัดสวนตาล ที่ประดิษฐาน พระเจ้าทรงทิพย์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง 10 ฟุต สูง 14 ฟุต 4 นิ้ว จากนั้นก็ไปต่อที่วัดภูมินทร์ ไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง “กระซิบบรรลือโลก” ใครอยากทราบเรื่องราวของภาพจิตรกรรมนี้ลองไปหาข้อมูลดูครับ จากนั้นก็เดินออกมาทางด้านหลังของวัดภูมินทร์ ผมก็เดินไปที่ๆ เดิม ที่เคยหยิบมาตักน้ำตอนที่มาน่านครั้งก่อนใน “ทริปภูแว ตอน ตะลุยเมืองน่านๆๆ” ทุกอย่างยังคงวางไว้เหมือนเดิม ต่างกันก็ตรงที่ไหนถูกเปลี่ยนไปแล้ว ดูภาพด้านล่างนี้ได้ครับ

327734_10151388741013257_920774128_o

จากนั้นก็ไปต่อกันที่ พระธาตุเขาน้อย ซึ่งมี พระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ประดิษฐานอยู่ ตรงจุดนี้เป็นจุดที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองน่านได้อย่างชัดเจน ในยามเช้าจะเห็นองค์พระสะท้อนกับแสงแดด จนเหลืองอร่าม พอตกเย็น แดดกำลังจะลับ องค์ประก็ยังคงแวววาว จนต้องหยุดมอง ในครั้งที่แล้วผมไม่ได้ขึ้นมาถึงที่นี่ แค่สังเกตุเห็นองค์พระอยู่บนเชิงเขา หลังจากได้นมัสการฯเรียบร้อยแล้ว ท้องก็เริ่มหิว ลงไปหาที่เติมกระเพาะให้เต็ม จนได้ร้านอาหารริมน้ำ บริเวณที่แข่งเรือยาวน่ะครับ บริเวณนั้นถึงแม้จะเป็นร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ แต่ก็มีผู้คนไม่พลุกพร่านเท่าไหร่ สำหรับร้านอาหารนี้ หากใครได้ไปชิมนะครับ ท่านต้องเข้าห้องน้ำด้วย ผมบอกได้เลยว่า ห้องน้ำนี้ไม่ธรรมดา เพราะประตู กับโถส้วม ห่างกันประมาณ 6 เมตร ซึ่งโดยปกติแล้วเวลาเราเข้าห้องน้ำสาธารณะ ประตูมันจะอยู่ไม่เลยมือเรา แต่ไปที่นี่ครับ ถ้าไม่ใช่แม่นาคไม่มีทางเอื้อมมือไปปิดประตูได้แน่นอน จากนั้นก็ไปวนอยู่แถว?ตลาดตั้งจิตนุสรณ์ จนได้เต้าเสียบปลั๊กไฟมาอันนึง เพราะว่าเต้าเสียบที่โรงแรมดันไม่ใช่ปลั๊ก 3 ตา เลยต้องซื้อเต้าเสียบใหม่ เอามาเสียบชาร์ตแบตโน๊ตบุคที่เอาติดมาด้วย คืนนี้ก็หลับไปด้วยความเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกล ทั้งที่หลับมาในรถแล้วก็ยังรู้สึกง่วงอยู่ดี อ้อเกือบลืมไป ว่าวันที่เราไปนั้นเป็นวันออกพรรษา ซึ่งเป็นที่น่าบังเอิญมาก เพราะตอนที่เข้าพรรษานั้น ผมกับแฟน และป้าเหน่ง ได้ไปบ้านเจ๊เบิร์ดที่จันทบุรี ไปทำบุญเข้าพรรษากันมา วันออกพรรษาจึงได้มาทำกันถึงภาคเหนือนี่เลยครับ

พอตื่นเช้าก็ได้ออกไปที่วัดมิ่งเมือง เป็นวัดที่ก่อสร้างคล้ายๆกับวัดล่องขุน

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านมิ่งเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ของวิหารหลังเดิม คงเป็นช่างฝีมือแบบสถาปัตยกรรมล้านนา ต่อมาภายหลังได้มีการบูรณะปรับปรุงซ่อมแซม เปลี่ยนแปลงรูปแบบ กลายเป็นสถาปัตยกรรม ที่ผสมผสานกับแนวความคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดเน้น ที่เด่นชัดของวิหารวัดมิ่งเมือง ก็คือ ลวดลายศิลปะปูนปั้น ที่ประดับตกแต่งตัววิหาร มีความสวยงาม วิจิตรบรรจงมาก นับเป็นงานฝีมือของช่างปูนสมัยใหม่ในยุดปัจจุบัน

และด้านหน้าของพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของ “เสาหลักเมืองน่าน” ซึ่งคนโบราณจะเรียกกันว่า “เสามิ่งเมือง” หรือ “เสามิ่ง” โดยสมเด็จเจ้าฟ้าอัตถะวรปัญโญ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 โปรดให้ฝังเสาพระหลักเมืองน่านจนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2331 ณ สถานที่ที่ทรงเสี่ยงทาย คือ ข้างวัดร้างเก่า อันตั้งอยู่ห่างจากหอคำไปทาง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 350 เมตร ซึ่งผู้รู้สันนิษฐานว่าวัดร้างนี้ คือ วัดห้วยไคร้ อันมีมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ต่อมาในปี 2514 ทางจังหวัดน่านได้ดำเนินการบูรณะตัวเสาพระหลักเมือง

จากนั้นก็ไปยังจุดหมายสุดท้ายของเมืองน่านในทริปนี้ ใครที่มาเมืองน่านแล้วควรจะมาสักการะพระธาตุแช่แห้ง เป็นพระธาตุประจำปีเถาะ ผู้ที่เกิดในปีเถาะจำนิยมมานมัสการกราบไหว้ ตามคติความเชื่อของคนโบราณ

ตัวพระธาตุตั้งอยู่บนเชิงเนินปูด้วยอิฐ ลาดขึ้นไปยังยอดเนิน กว้างประมาณ 20 วา มีบันไดนาคขนาบทั้งสองข้าง องค์พระเจดีย์เป็นแบบล้านนาไทย ฐานเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันขึ้นไปจนสูง ใช้แผ่นทองเหลืองบุรอบฐาน แล้วลงรักปิดทอง จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง

ภายในเขตรอบๆองค์พระธาตุนั้น มีภาพจิตกรรมของนักเรียน นักศึกษา ที่วาดเป็นรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นแบบอย่างของพุทธศาสนิกชน แต่ละภาพนั้นล้วนสวยงามและทรงคุณค่าทั้งทางด้านจิตใจและทางศิลป์ มีทั้งภาพเขียนดรออิ้ง ภาพสีน้ำมัน ภาพเทคนิคพิเศษ ใครที่ไปนมัสการพระธาตุแช่แห้งอย่าลืมที่จะชมภาพจิตรกรรมนี้ด้วยนะครับ

สนใจสอบถามข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเราได้ที่ facebook fanpage

CLOSE