ตลาดลาดชะโดก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 100 ปี โดยพัฒนามาจากตลาดน้ำ เดิมชุมชนชาวจีนสร้างเรือนแพทรงไทยค้าขายสองฝั่งคลอง เกิดเป็นรูปแบบตลาดน้ำ ต่อมาได้ใช้พื้นที่ริมน้ำซึ่งเป็นของวัดลาดชะโด สร้างตลาดไม้ใต้ถุนสูงพ้นน้ำเพื่อค้าขาย แล้วขยายเข้าไปสูงฝั่งเรื่อยๆ จำนวนเกือบร้อยคูหา ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก
ด้วยความน่าสนใจและเสนห์ของตลาดเก่าแก่แห่งนี้ ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเป็นระยะๆ ทั้งยังเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ไทยและละครโทรทัศน์มาถ่ายทำหลายเรื่อง อาทิ “บุญชู” , “รักข้ามคลอง” , “สตางค์” , “ชื่นชอบชวนหาเรื่อง” , “ดงดอกเหมย” , “ความสุขของกะทิ” เป็นต้น
วัตถุล้ำค่า วังมัจฉามากมี
ของดีทำจากปลา ในนามีข้าว
มีอีกคำขวัญครับ
“ลาดชะโดแดนทำหรีด อดีตแหล่งรวมปลา
เสาศาลาวัดต้นใหญ่ ภาพยนตร์ไทยมาถ่ายทำ
งามล้ำด้วยสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น”
ตลาดลาดชะโดมีความคล้ายคลึงกับตลาดสามชุกมาก และยังคงสภาพความเก่าแก่และมนต์ขลังอยู่ อย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งในความรู้สึกของผมเอง จะได้บรรยากาศคนละอย่างกับที่ “สามชุก” ซึ่งตอนนี้สามชุกเองพัฒนาไปมาก และมนต์เสน่ห์ของความเก่าแก่เริ่มจะจางหายลงแล้ว เพราะมีธุรกิจหลายชนิดได้เข้ามากอบโกยกันที่นี่ พื้นที่แทบทุกตารางเมตรเป็นเงินเป็นทอง เลยก็ว่าได้ มีร้านค้าเต็มไปหมด โดยเฉพาะช่วงวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งผมเคยไปครั้งก่อนๆ จะดูเป็นตลาดที่เงียบสงบอยู่บ้าง แต่ตอนนี้หามุมสงบยากเสียแล้ว ซึ่งต่างจากที่ลาดชะโด ผมพูดได้เลยว่า มีมุม ที่ใครต้องการความสงบ ต้องการสมาธิในการทำงาน น่าไปนั่งมากๆ มันเงียบ เย็น และได้บรรยากาศ ถ้าคุณเบื่อที่จะนั่งอยู่บ้าน ลองแวะไปที่ลาดชะโดครับ ที่นี่มีกิจกรรมไว้บริการนักท่องเที่ยว อาทิ
- นั่งเรือชมวิถีชีวิตริมคลองลาดชะโด จากท่าน้ำคันทรีโฮม ไปตลาดลาดชะโด
- ชมร้านขายยาแผนโบราณสภาพเดิมๆ
- สัมผัสการนวดฝ่าเท้าริมคลอง
- ก๋วยเตี๋ยวเรือริมคลอง (มีคนคอนเฟิร์มว่าอร่อยมาก)
- ดูของเก่าจากอดีตในตลาดลาดชะโด
- ชมการสาธิตการยกยอหาปลาของชาวบ้านริมน้ำ
- พายเรือชมวังมัจฉาธรรมชาติ อาทิ ปลาชะโด ปลากราย ปลาหางแพน ปลาเทโพ ปลาสวาย
- นั่งเรือชมบ้านทรงไทยริมน้ำ และรังนกกระจาบ
- ชมสถานที่เคยใช้ถ่ายทำภาพยนต์
- ชมอาคารเรียนไม้ ที่ยาวที่สุดในโลก (ยาวมากๆครับ เป็นอาคารรูปตัว E)
- ศาลาการเปรียญอายุ 100 กว่าปีของวัดลาดชะโด (ใหญ่มาก เสาทำจากไม้ตะเคียน)
- ชมพิพิธภัณฑ์ชาวนาลาดชะโด
- นิทรรศการภาพเก่าเล่าอดีต
- สถานีตำรวจ (งงใช่ม่ะครับ คุณต้องไปดูเอง แล้วจะอึ้ง)
บรรยากาศภายในตลาดลาดชะโด มีสินค้าพื้นบ้าน ที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มีพิพิธภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน ที่เก็บรวบรวมอุปกรณ์การจับปลา และการทำนาของชาวบ้านไว้ แต่ในความรู้สึก ยังจัดแสดงแบบกระจัดกระจายอยู่? มีร้านขายพวงหลีด ที่เป็นเจ้าแรกในประเทศที่ทำพวงหลีดจากผ้าเช็ดตัว
สถาปัตยกรรมเก่าแก่ของตลาดลาดชะโดที่ยังคงรักษาไว้ ที่นี่ได้รับรางวัลพระราชทานอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2549 ประเภทชุมชนพื้นถิ่น ส่วนใหญ่ตลาดเก่าๆ ตามต่างจังหวัดจะเป็นตลาดลักษณะนี้และตั้งอยู่ริมน้ำ เมื่อก่อนแถวบ้านเราก็เคยมี แต่น่าเสียดายที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว
ร้านที่อยู่ติดริมน้ำทำให้อากาศที่ร้อนๆ เย็นสบายขึ้นเยอะ ถ้าไปนั่งชิลๆ ตรงนั้นก็ได้บรรยากาศไปอีกแบบ ตรงริมน้ำนี้มีบริการนวดจับเส้นด้วย
การเดินทางของผู้คนสมัยก่อนจะใช้เรือเป็นยานพาหนะ ใต้ถุนสูงเพราะพอถึงเดือน กันยา – ตุลา ช่วงที่น้ำมา จะทำให้ระดับน้ำสูงมาก เพื่อกันน้ำท่วมจึงต้องทำให้สูงเกินกว่าระดับน้ำให้เยอะๆ ถ้าน้ำขึ้นสูงจะกลายเป็นตลาดกลางน้ำ
โรงเรียนวัดลาดชะโด เป็นโรงเรียนที่มีอาคารไม้ลักษณะเด่น รูปตัว E และมีความยาวที่สุดในประเทศไทย ดูจากภาพด้านล่างสุดแล้วจะทราบว่า ที่ว่ายาว มันยาวแค่ไหน สะพานไม้เก่าที่หน้าโรงเรียน ไปยังอีกฝั่งซึ่งเป็นสถานีตำรวจ ซึ่งโรงพักนี้ก็ยังอยู่ในสภาพเดิมๆ ทุกประการ ถ้าคุณลืมภาพของโรงพักสมัยก่อนเป็นอย่างไร แวะมาที่นี่ครับ
ส่งท้ายด้วยภาพวัดลาดชะโด และศาลาการเปรียญที่ใหญ่มาก เสาทำด้วยไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ จากขนาดของศาลา บ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของที่นี่ได้เป็นอย่างดี และสังเกตุที่ลำโพงขยายเสียงของวัด จะใช้ทั้งหมด 4 ด้าน ด้านละ 7 ตัว ทำให้ได้ยินไปทั่ว ในวันพระผู้คนจะแห่แหนมากันจนแน่ศาลาเลยทีเดียว
คราวหน้าจะเก็บลายละเอียดยิบย่อยมาฝากครับ